หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


พฤติกรรมการดื่มสุรา สภาพแวดล้อมทางครอบครัวและสังคม ผลกระทบและเจตคติต่อการดื่มสุรา พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010
ชื่อเรื่อง    การศึกษาพฤติกรรมการดื่มสุรา สภาพแวดล้อมทางครอบครัวและสังคม ผลกระทบจากการดื่มสุราและเจตคติต่อการดื่มสุราของผู้ป่วยสุรา
ชื่อผู้วิจัย    นางสาวสุกุมา  แสงเดือนฉาย
หน่วยงาน    สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ปีงบประมาณ    2547

บทคัดย่อ


การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะของผู้ป่วยที่เข้าบำบัดรักษาในสถานบำบัด ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการดื่มสุราและเจตคติต่อการดื่มสุรา และเปรียบเทียบพฤติกรรมการดื่มสุรา สภาพแวดล้อมทางครอบครัวและสังคม ผลกระทบจากการดื่มสุรา และเจตคติต่อการดื่มสุราของผู้เสพและผู้ติดสุรา กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ดื่มสุราที่เข้าบำบัดรักษาสุราทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ในสถาบันธัญญารักษ์และศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดภูมิภาค ทั้ง 5 แห่ง จำนวน 461 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2547 โดยใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิและค่าความเที่ยงโดย Cronbach’s Alpha ได้ค่าเท่ากับ 0.78 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าไคสแควร์

    ผลการวิจัยมีดังนี้
    1. ลักษณะประชากรของผู้ป่วยสุราส่วนใหญ่เป็นเพศชาย สถานภาพสมรสและอยู่ด้วยกันมีการศึกษาระดับประถมศึกษา อาชีพกรรมกร/งานรับจ้าง มีรายได้น้อยกว่า 5,000 บาท/เดือนในกลุ่มผู้เสพ พบว่ามีอายุระหว่าง 35 – 44 ปี มีการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศ฿ษาตอนปลาย/ปวช. อาชีพกรรมกร/งานรับจ้าง มีรายได้น้อยกว่า 5,000 บาท/เดือน ส่วนในกลุ่มผู้ติดพบว่า มีอายุระหว่าง 35-44 ปี มีการศึกษาระดับประถมศึกษา อาชีพกรรมกร/งานรับจ้าง มีรายได้น้อยกว่า 5,000 บาท/เดือน
    2. การเปรียบเทียบพฤติกรรมการดื่มระหว่างผู้เสพสุราและผู้ติดสุรา พบว่ามีพฤติกรรมการดื่มสุราด้านเหตุผลการดื่มอย่างต่อเนื่อง จำนวนเวลา ช่วงเวลาการดื่ม ปริมาณการดื่ม/วัน ความถี่ของการดื่ม ชนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลักษณะการดื่ม เหตุผลของการหยุดดื่ม และพฤติกรรมขณะดื่มเหล้าระหว่างผู้เสพและผู้ติดสุรา มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยทั้งผู้เสพสุราและผู้ติดสุราให้เหตุผลของการดื่มเหมือนกันคือเพื่อความสนุกสนาน สังสรรค์ และไม่ได้คิดว่าจะดื่มจนติด แต่เมื่อดื่มไประยะหนึ่งจึงเริ่มรู้สึกว่าต้องดื่มอย่างต่อเนื่องและใช้เวลาดื่มนานมากขึ้นโดยพฤติกรรมการดื่มสุราของผู้เสพพบว่านิยมดื่มเหล้าสีวันละน้อยกว่า 1 ขวดกลม ดื่มแบบเพียว ๆ ดื่มวันละ 1 – 2 ชั่วโมงโดยชอบดื่มกับเพื่อน ๆ และจะหยุดเมื่อดื่มได้ปริมาณที่กำหนด ส่วนผู้ติดสุรานิยมดื่มเหล้าขาว ปริมาณวันละน้อยกว่า 1 ขวดกลม เช่นเดียวกับผู้เสพแต่มีจำนวนของผู้ดื่ม 1 – 3 ขวด มากกว่ากลุ่มผู้เสพ (ร้อยละ 23.6) ใช้เวลาในการดื่มวันละ 3 – 4 ชั่วโมงและมีร้อยละ 19.4 ที่ดื่มวันละ 7 ชั่วโมงขึ้นไป ผู้ติดสุรานิยมดื่มคนเดียวแบบเพียว ๆ ที่บ้าน จะหยุดดื่มเมื่อเมาจนหลับไป ส่วนการถอนยาเมื่อต้องการลดปริมาณการดื่มเหล้าในกลุ่มผู้ติดและกลุ่มผู้เสพมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผู้ติดจะมีอาการรุนแรงมากกว่าผู้เสพจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องกลับไปดื่มต่อเนื่อง สำหรับอาการเจ็บป่วยที่พบมากในกลุ่มผู้เสพคือ กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ชาปลายมือปลายเท้า เป็นตะคริว ส่วนผู้ติดจะมีอาการความจำเสื่อม จำอะไรไม่ค่อยได้ และมีการตัดสินใจช้า
    สภาพแวดล้อมทางครอบครัวและสังคม พบว่าการดื่มสุราในร้านจำหน่ายสุราในชุมชนการดื่มสุราโดยการลงบัญชีของผู้เสพสุราและผู้ติดสุรามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05 โดยผู้ติดสุราสามารถดื่มสุราโดยระบบเงินเชื่อได้บ่อยครั้งและนิยมดื่มในร้านจำหน่ายสุราในชุมชนระดับมาก ส่วนผู้เสพสุรานิยมดื่มสุราในร้านจำหน่ายสุราระดับปานกลาง และสามารถใช้ระบบเงินเชื่อได้เพียงบางครั้ง ส่วนจำนวนร้านจำหน่ายสุราใกล้บ้าน และจำนวนสื่อโฆษณาชี้ชวนให้ดื่มสุราในชุมชนระหว่างกลุ่มผู้เสพสุรา และผู้ติดสุรา ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนเจตคติที่มีต่อการดื่มสุราระหว่างผู้เสพสุราและผู้ติดสุรา พบว่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
    3. ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการดื่มสุรา และเจตคติต่อการดื่มสุราของผู้ป่วยสุราพบว่า สาเหตุการดื่มสุรา ช่วงเวลารับประทานอาหารกับการดื่มสุรามีความสัมพันธ์กับเจตคติต่อการดื่มสุราอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนความถี่ของการดื่มสุรา พฤติกรรมขณะดื่มสุราพฤติกรรมภายหลังการดื่มสุรา และเหตุผลของการดื่มสุราอย่างต่อเนื่องไม่มีความสัมพันธ์กับเจตคติต่อการดื่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
    นอกจากนี้ยังพบว่าพฤติกรรมการดื่มสุรามีแนวโน้มพบมากขึ้นในกลุ่มอายุน้อยลงและในเพศหญิง ดังนั้นรัฐบาลควรมีนโยบายและมาตรการทางกฎหมายควบคุมการผลิตและจำหน่ายสุราให้เข้มงวดขึ้น สำหรับสถานบำบัดรักษา ควรมีการดำเนินการเชิงรุก โดยมีการรณรงค์ค้นหาผู้เสพเพื่อเข้ารับการบำบัดก่อนจะกลายเป็นผู้ติดสุรา
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
ถัดไป >