หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ เยาวชนไทยคิดอย่างไรกับยาเสพติด พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010
ชื่อเรื่อง        การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ “เยาวชนไทยคิดอย่างไรกับยาเสพติด”
หน่วยงาน    สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ปีงบประมาณ    2547

บทคัดย่อ

    การสำรวจความคิดเห็นสาธารณะครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับยาเสพติด ความคิดเห็นในการปราบปรามยาเสพติดและวิธีการป้องกันตนเองจากยาเสพติดของเยาวชนในสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการในเขตกรุงเทพมหานคร เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามระหว่างวันที่ 20 – 28 กันยายน 2547 ได้กลุ่มตัวอย่างเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาในสถานศึกษาทั้งในสายสามัญและการศึกษานอกโรงเรียน ทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 3,180 คน เป็นเพศชายร้อยละ 49.8 และเพศหญิงร้อยละ 50.2 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติความถี่และค่าร้อยละ ผลการสำรวจมีดังนี้
    การรับรู้เกี่ยวกับยาเสพติด พบว่าความคิดของเยาวชนเมื่อนึกถึงยาเสพติดส่วนใหญ่นึกถึงในด้านลบของยาเสพติด โดยมองว่าเป็นสิ่งมีอันตรายต่อชีวิต อันตรายต่อสุขภาพ ความทุกข์ของพ่อแม่ และผลกระทบต่อครอบครัว (ร้อยละ 70.8,70.1,64.7 และ 56.1 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตามยังมีเยาวชนบางรายนึกถึงยาเสพติดในด้านบวก โดยมองว่ายาเสพติดเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสนุกสนาน การมีเพศสัมพันธ์ ความกระปรี้กระเปร่า และความเป็นอิสระ (ร้อยละ 16.2,6.3,5.2 และ 4.0 ตามลำดับ)
    แหล่งข้อมูลยาเสพติด พบว่าเยาวชนส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดจากสื่อต่าง ๆ มากที่สุด (ร้อยละ 84.7) ที่น่าสนใจยิ่งคือเยาวชนส่วนใหญ่เห็นว่ายาเสพติดเป็นเรื่องใกล้ตัวมากถึงมากที่สุด (ร้อยละ 55.4) และเห็นว่าโอกาสในการใช้ยาเสพติดของเยาวชนมีมากถึงมากที่สุด (ร้อยละ 89.6) ด้วย นอกจากนี้แม้ว่าเยาวชนกลุ่มนี้จะเห็นว่าการใช้ยาเสพติดเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำโดยเด็ดขาด (ร้อยละ 71.6) แต่หากมีเพื่อนสนิทชักชวนให้ใช้ยาเสพติด พบว่ามีเพียงร้อยละ 84.1 เท่านั้นที่ยืนยันว่าจะไม่ยินยอมใช้ยาเสพติด สำหรับความรู้สึกต่อผู้ใช้ยาเสพติดนั้น เยาวชนส่วนมากรู้สึกว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นบุคคลที่น่าเห็นใจน่าสงสาร (ร้อยละ 32.9) มีเยาวชนส่วนหนึ่งรู้สึกว่าเป็นบุคคลอันตราย น่ากลัว เป็นภัยสังคม และน่ารังเกียจ ส่วนมากคิดที่ว่าผู้ที่ใช้ยาเสพติดเป็นบุคคลที่เท่ห์และน่าสนใจยังคงมีอยู่ในเยาวชนบางคน
    ลักษณะการใช้ยาเสพติดของเยาวชน พบว่าเยาวชนส่วนใหญ่มองว่าการแพร่ระบาดของยาเสพติดพบมากที่สุดในชุมชนแออัด (ร้อยละ 33.8) และผู้ที่มีโอกาสใช้ยาเสพติดมากที่สุดคือเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวที่มีความขัดแย้ง (ร้อยละ 31.0) ส่วนการใช้ยาเสพติดครั้งแรกส่วนใหญ่เริ่มใช้ในสถานเริงรมย์และบ้านเพื่อน (ร้อยละ 49.7 และ 33.9 ตามลำดับ) ส่วนการใช้ยาเสพติดครั้งต่อมาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสถานเริงรมย์และบ้านเพื่อนเช่นกัน (ร้อยละ 60.6 และ 57.2 ตามลำดับ) ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เยาวชนมีโอกาสใช้ยาเสพติดมากที่สุด นั่นคือการไปเที่ยวกลางคืนและการเข้าไปในสถานเริงรมย์
    ประสบการณ์เกี่ยวกับยาเสพติด พบว่าเยาวชนกลุ่มนี้ร้อยละ 38.9 รู้จักกับบุคคลที่ใช้ยาเสพติดโดยบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ใกล้ชิดกับเยาวชนเอง เช่นคนข้างบ้าน คนในชุมชน ญาติ เพื่อนบ้าน และเพื่อนในห้องเรียน เป็นต้น ส่วนประสบการณ์การใช้ยาเสพติดของเยาวชนเองนั้นพบว่าร้อยละ 12.4 ของเยาวชนทั้งหมดที่รายงานว่าเคยใช้ยาเสพติด โดยให้เหตุผลของการใช้มากกว่าหนึ่งเหตุผล ได้แก่ ความอยากทดลอง การถูกชักชวน อยากมีประสบการณ์ เป็นต้น
    สถานการณ์ยาเสพติดในมุมมองของเยาวชน เยาวชนในการสำรวจนี้ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าถึงแม้จะมีการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด จำนวนผู้ใช้ยาเสพติดในปัจจุบันยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 46.4) อย่างไรก็ตามเยาวชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการประกาศมาตรการสงครามกับยาเสพติดที่ผ่านมา (ร้อยละ 68.1) และคิดว่าการแก้ไขและปราบปรามยาเสพติดในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ดีแล้ว (ร้อยละ 53.0) แต่เมื่อให้พิจารณาถึงโอกาสในการกลับมาแพร่ระบาดของยาเสพติด เยาวชนเพียงร้อยละ 10.9 เท่านั้นที่คิดว่ายาเสพติดไม่มีโอกาสที่จะกลับมาอย่างแน่นอน ส่วนโอกาสที่ยาเสพติดจะหมดไปจากสังคมไทยนั้น เยาวชนส่วนใหญ่คิดว่ามีความเป็นไปได้ (ร้อยละ 40.2)
    การป้องกันยาเสพติด พบว่าเยาวชนเกือบทั้งหมดเชื่อว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่ป้องกันได้ (ร้อยละ 55.7) และยอมรับว่าการรณรงค์เกี่ยวกับยาเสพติดมีส่วนช่วยยับยั้งไม่ให้ใช้ยาเสพติดได้เช่นกัน (ร้อยละ 46.9) ส่วนผู้รับผิดชอบในการป้องกันยาเสพติดในเยาวชนนั้น ส่วนใหญ่คิดว่าตัวเยาวชนเองควรเป็นผู้รับผิดชอบ (ร้อยละ 65.1) สำหรับแนวทางในการป้องกันยาเสพติดนั้น เยาวชนส่วนใหญ่เห็นว่าครอบครัวต้องให้ความอบอุ่นกับเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอันดับแรก (ร้อยละ 67.2) ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นที่เยาวชนเห็นว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้ยั่งยืนคือการสร้างครอบครัวให้อบอุ่น (ร้อยละ 47.2)
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
< ก่อนหน้า   ถัดไป >