หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


การประเมินภาพรวมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้เสพและผู้ติดสารเสพติด พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010

ชื่อเรื่อง    : การประเมินภาพรวมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้เสพและผู้ติดสารเสพติด

ผู้วิจัย  : ฉวีวรรณ   ปัญจบุศย์, นิภา   กิมสูงเนิน, สำเนา   นิลบรรพ์, สุกุมา   แสงเดือนฉาย,
          ไพวัล  อาจหาญ, กาญจนา  ภูยาธร และคณะ
ปี    : 2547

บทคัดย่อ
    การประเมินภาพรวมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความสอดคล้องและประสิทธิภาพของการดำเนินการบำบัดรักษาในพื้นที่ตามยุทธศาสตร์ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้เสพและผู้ติดยาเสพติด (Demand) ที่ได้ดำเนินการทั่วประเทศระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – สิงหาคม 2546 เลือกวิธีการประเมินโดยใช้รูปแบบจำลอง CIPP ครอบคลุมตั้งแต่ปัจจัยสภาพแวดล้อม ปัจจัยนำเข้า กระบวนการดำเนินการ และผลลัพธ์ของการดำเนินการ โดยกำหนดประเด็นหลักในการประเมิน 19 ประเด็น กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้บำบัดรักษาและกลุ่มผู้รับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลและสถานบำบัดทั่วประเทศ คัดเลือกโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่ายและแบ่งสัดส่วนตามเขตภูมิภาคและระดับหน่วยงานทั้งหมด 1,084 แห่ง ได้กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามจำนวน 660 คน และให้การสัมภาษณ์จำนวน 47 คน รวม 707 คน และกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้รับการบำบัดจำนวน 523 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการรวบรวมจากเอกสารและคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แบบประเมินผลการดำเนินการบำบัดรักษาจำนวน 7 ชุด ตรวจสอบค่าความเที่ยงตรงของทุกชุดโดยใช้ Cronbach , s Alpha Coefficient ได้ค่าระหว่าง 0.83 และ 0.89 และแบบสัมภาษณ์จำนวน 1 ชุด ระหว่างวันที่ 4 สิงหาคม – 10 กันยายน 2546 ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะมีดังนี้

สรุปผลการประเมิน
    การสรุปผลการประเมินจะสรุปครอบคลุมวัตถุประสงค์การประเมินดังนี้
    1.  ความครอบคลุมในการให้บริการในพื้นที่ การศึกษาพบว่า สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีการให้บริการบำบัดรักษาผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดครอบคลุมทุกพื้นที่ประเทศ โดยโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัยมีการดำเนินการบำบัดรักษาถึงร้อยละ 92 ขึ้นไป ส่วนโรงเรียนมัธยมศึกษาสายสามัญสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีการดำเนินการเพียงร้อยละ 52 ซึ่งถือว่าในส่วนของหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขได้มีการปฏิบัติในการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดอยู่บ้าง สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งเป้าหมายให้มีการดำเนินการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดในปี 2546 ให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกระดับทั่วประเทศ
    2.  รูปแบบการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดในหน่วยงาน การบำบัดรักษาที่ดำเนินการในทุกหน่วยงานพบว่า มีการใช้รูปแบบการบำบัดรักษามากกว่า 1 รูปแบบขึ้นไป รูปแบบที่หน่วยงานเลือกใช้มากที่สุด คือรูปแบบจิตสังคมบำบัด (Matrix program) มีให้บริการบำบัดรักษามากเป็นอันดับแรกคิดเป็นร้อยละ 53 ซึ่งมีให้บริการในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนและสถานีอนามัย รองลงมาคือค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชุมชน (ค่ายเยาวชนต้นกล้า) และการบำบัดด้วยวิธีการอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 18 และ 16 ตามลำดับ ส่วนการบำบัดแบบฟื้นฟูแบบเข้มข้นทางสายใหม่ (FAST model) และกลุ่มปัญญาสังคมให้บริการน้อยที่สุด ในขณะที่หลักสูตรคลินิกใกล้ใจในชุมชนจัดรวมอยู่ในกลุ่มวิธีการบำบัดด้วยวิธีอื่น ๆ
    3.  การเข้ารับการอบรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะการบำบัด ผู้รับผิดชอบในการบำบัดรักษามี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เคยเข้ารับอบรมกลุ่มที่ไม่เคยอบรม โดยกลุ่มที่เคยเข้ารับการอบรมส่วนใหญ่เข้ารับการอบรมจากหน่วยงานที่กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้ทำหน้าที่อบรมโดยตรงคือกรมสุขภาพจิตและสถาบันยาเสพติดธัญญารักษ์ ส่วนใหญ่ที่ไม่เคยเข้ารับการอบรมจะให้วิธีการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองจากตำราและเอกสาร ร่วมกับการหาประสบการณ์เฉพาะบุคคลจากการเข้าช่วยผู้บำบัดอื่น ๆ ในหลักสูตรค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชุมชน (ค่ายเยาวชนต้นกล้า) พบว่าหน่วยงานในระดับสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลทั่วไประบุว่าเคยเข้ารับการอบรมเพียง 55- 65 ส่วนหลักสูตรจิตสังคมบำบัด (Matrix program) พบว่าสถานพยบาลทุกระดับทุกแห่งเคยเข้ารับการอบรมถึงร้อยละ 90 ขึ้นไป
    4.  การนำหลักสูตรที่ได้รับการอบรมไปใช้  โดยภาพรวมผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการบำบัดรักษาผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดทุกหน่วยงาน ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าหลักสูตรที่อบรมมาแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลยโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 10-35 เท่านั้น ส่วนผู้ที่เห็นว่าต้องการมีนำไปปรับปรุงประยุกต์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นก่อนนำไปใช้มีมากถึงร้อยละ 65-82
    5.  ความพร้อมของบุคลากรและหน่วยงาน ในทุกหน่วยงานพบว่าผู้บำบัดรักษาส่วนใหญ่มีความเห็นว่ามีความพร้อมในการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดในระดับปานกลาง โดยเฉพาะสถานีอนามัยมีความเห็นว่าผู้บำบัดมีความพร้อมในระดับน้อย ทั้งนี้เนื่องจากการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดต้องใช้เวลาและคนจำนวนมาก ในขณะที่สภาพจริงของสถานพยาบาลบางระดับจะมีจำนวนบุคลากรน้อย แต่ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าผู้บำบัดมีความพร้อมมากพอในระดับหนึ่งที่จะให้บริการบำบัดรักษา เพราะส่วนใหญ่มีเจตคติที่ดีต่อการบำบัดผู้ป่วยยาสพติด นอกจากนั้นแล้วเกือบทุกหน่วยงานมีความเห็นว่าความพร้อมเกี่ยวกับงบประมาณ สถานที่และเวลาอยู่ในระดับน้อยและปานกลาง เนื่องจากประสบปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณที่ล่าช้า ไม่มีความชัดเจนในการเบิกจ่ายส่วนด้านสถานที่ไมเหมาะสมในการบำบัดเนื่องจากคับแคบ เสียงรบกวนและไม่มีความเป็นส่วนตัวขณะบำบัดผู้ป่วย และในการบำบัดใช้เวลามากเนื่องจากเป็นการให้คำปรึกษาและต้องบำบัดอย่างต่อเนื่อง
    6.  การดำเนินการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด ในระยะเวลา 6 เดือน ที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – สิงหาคม 2546 หน่วยงานทุกระดับมีการให้บริการบำบัด กล่าวคือในระดับสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไปดำเนินการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดด้วยวิธีจัดค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชุมชนเฉลี่ยแห่งละ 2 – 3 ครั้ง ส่วนจิตสังคมบำบัดมีการดำเนินการในทุกหน่วยงานเฉลี่ย 16-98 ครั้งในแต่ละแห่ง และแบบการบำบัดฟื้นฟูแบบเข้มข้นทางสายใหม่มีเฉลี่ย 9 ครั้งต่อแห่ง และจำนวนผู้เข้ารับบริการบำบัดรักษาในแต่ละแห่งมีเฉลี่ย 24 – 232 คน (หน่วยงาน 660 แห่ง)
    7.  ความพึงพอใจของผู้บำบัดและผู้รับการบำบัด ผลการให้บริการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่าผู้บำบัดมีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินการบำบัดรักษาในระดับผานกลาง ส่วนผู้เข้ารับการบำบัดมีความพึงพอใจต่อการเข้ารับการบำบัดทั้งในด้านกระบวนการบำบัดและด้านผลลัพธ์ที่ได้จากการบำบัดในระดับมาก

ข้อเสนอแนะ
    1.  การพัฒนาหลักสูตรบำบัดรักษา
    1.1  ควรมีการประสานความร่วมมือในหน่วยงานกระทรวงสาธารสุข ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาหลักสูตรที่ใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด เพื่อจะได้ระดมสมองและเร่งรัดให้มีการจัดทำคู่มือหรือแนวทางปฏิบัติในการบำบัดรักษาที่เป็นแนวทางหรือเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะยังมีผู้บำบัดบางหน่วยงานใช้ประสบการณ์และความสามารถเฉพาะบุคคลมาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วย
    1.2  ควรเปิดโอกาสให้ผู้บำบัดในแต่ละพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรหรือรูปแบบการบำบัดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแต่ละชุมชน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    2.  การจัดอบรมให้ความรู้และฝึกทักษะแก่ผู้บำบัดรักษา
    ควรมีการขยายผลในการจัดอบรมให้กว้างขวางและครอบคลุมในแต่ละพื้นที่มากขึ้นเพื่อให้ผู้บำบัดได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการบำบัดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความสะดวกของผู้เข้ารับการอบรม การประหยัดค่าใช้จ่ายและงบประมาณ เช่น การจัดอบรมในระดับจังหวัดสำหนับผู้บำบัดจากโรงพยาบาลทั่วประเทศและโรงพยาบาลชุมชน และในระดับอำเภอสำหรับผู้บำบัดจากสถานีอนามัย เป็นต้น
    3.  ควรมีการบริหารจัดการเกี่ยวกับอัตราบุคคล งบประมาณและสถานที่
    โดยที่รัฐบาลมีนโยบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การเอาชนะยาเสพติด ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขควรให้ความสนใจเกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนบุคลากรที่รับผิดชอบในการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด รวมทั้งจัดสรรงบประมาณในรูปค่าตอบแทนเป็นค่าล่วงเวลาในการทำงานนอกเวลาให้กับผู้ปฏิบัติงานยาเสพติด เนื่องจากการบำบัดรักษาผู้ป่วยในชุมชนบางครั้งต้องใช้เวลานอกราชการ เพราะผู้รับการบำบัดและครอบครัวต้องประกอบอาชะในเวลาช่วงเช้าทำให้ไม่สามารถเข้ารับการบำบัดในเวลาราชการได้ นอกจากนั้นผู้บริหารระดับสูงของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรได้ประสานงานกับสถานพยาบาลในการประสานความร่วมมือและระดมความแก้ไขปัญหาด้านสถานที่ที่ใช้ในการบำบัดรักษา เพื่อให้มีความสะดวกและเหมาะสมในการปฏิบัติงานยาเสพติดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขวัญและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บำบัดในการปฏิบัติงานยาเสพติดให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล

แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
< ก่อนหน้า   ถัดไป >