หน้าแรก เกี่ยวกับสถาบัน บริการบำบัดรักษายาเสพติด ติดต่อเรา

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)


ประเมินผลการดำเนินงานบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมเฟตามีน พิมพ์
Wednesday, 28 July 2010
ชื่อเรื่อง    ประเมินผลการดำเนินงานบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมเฟตามีน
ชื่อผู้วิจัย    นางวันเพ็ญ    ใจปทุม
    นางสีวลี        จรุวรรณ์
    นางสาวพวงทอง     พันโกฎิ
    นางนฤมล    อารยะพิพัฒน์
    นางอรุณี    ประชุมชิต   
หน่วยงาน    สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ปีงบประมาณ    2544

บทคัดย่อ

       รายงานการวิจัย เรื่องการประเมินผลการดำเนินงานบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมเฟตามีน แบบผู้ป่วยนอกโดยใช้แมทริกซ์โปรแกรม มีวัตถุประสงค์เพื่อ ประเมินกระบวนการดำเนินงาน และประเมินผลการดำเนินงานตลอดจนผลกระทบของการบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมเฟตามีนแบบผู้ป่วยนอกโดยใช้แมทริกซ์โปรแกรมเพื่อเสนอแนะการปรับปรุงทิศทางกลไกการดำเนินงานให้เหมาะสม และนำผลของการศึกษาไปพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษา ในการนำไปประยุกต์ใช้ในสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ ตามแผนการขยายงานด้านการบำบัดรักษาต่อไป
       การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้รูปแบบการประเมินแบบ Formative – Summative Evaluation เป็นแนวทางในการศึกษา โดยศึกษาจากเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์บุคลากรสาธารณสุข การใช้แบบสอบถามผู้ป่วยและครอบครัว ผู้รับบริการตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของสถานบำบัดรักษายาเสพติดจำนวน 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจากการศึกษาสรุปผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ของการประเมินได้ดังนี้
       1. ในการประเมินกระบวนการดำเนินงานบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมเฟตามีนแบบผู้ป่วยนอกโดยใช้แมทริกซ์โปรแกรม ผลจากการประเมินสถานบำบัดรักษายาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดเชียงใหม่ ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดขอนแก่น มีการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ที่ดีแต่ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ส่วนในด้านการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร, ผู้รับบริการ, ครอบครัว, สถานที่ และสื่อต่าง ๆ เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน เพียงแต่มีลักษณะของความแตกต่างของปัญเจกบุคคลของกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันของผู้รับบริการในแต่ละพื้นที่
       2. การประเมินผลการดำเนินงานทางด้านประสิทธิภาพจากสัดส่วนของผู้รับบริการปัจจุบันเมื่อเทียบกับจำนวนผู้รับบริการทั้งหมดยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ตามเกณฑ์สัดส่วนเป็น 50% ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายด้านด้วยกัน เช่น ทางด้านตัวของผู้บำบัดถึงแม้ว่าจะผ่านการอบรมแมทริกซ์โปรแกรมมาแล้วก็ตามแต่แมทริกซ์โปรแกรมเป็นรูปแบบการบำบัดรักษาแบบใหม่อาจยังส่งต่อประสิทธิภาพของผู้รับบริการ
       ประสิทธิภาพทางด้านครอบครัว จำนวนครั้งเฉลี่ยในการที่ร่วมกลุ่มให้ความรู้ครอบครัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเนื่องจากครอบครัวมีความยินดีให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการบำบัดรักษาและได้มีการเตรียมความพร้อมก่อนรับเข้าโปรแกรมทุกราย การที่ได้ทำตามมาตรฐานของโปรแกรมทุกขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ให้ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการบริหารจัดการลดน้อยลง
       สำหรับประสิทธิภาพด้านผู้ให้บริการ จำนวนผู้ให้บริการเทียบกับจำนวนผู้รับบริการปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
       ประสิทธิผลทางด้านผู้รับบริการผลการตรวจปัสสาวะในระหว่างการเข้าโปรแกรมพบสารแอมเฟตามีนในระหว่าง 1 – 3 เดือนแมทริกซ์โปรแกรมมีระบบการช่วยเหลือเมื่อกลับไปเสพซ้ำหากผู้รับบริการยังมีความพยายามในการมาพบกลุ่มอย่างต่อเนื่องกระบวนการช่วยเหลือยังมีอยู่ตลอด
       ประสิทธิผลด้านความพึงพอใจของผู้รับบริการ ซึ่งได้แก่ผู้ป่วยและญาติ ทั้ง 3 ศูนย์ มีระดับความพึงพอใจอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
       3. การประเมินผลกระทบของแมทริกซ์โปรแกรมที่นำไปใช้ในหน่วยงานอื่น เกิดจากสถานการณ์ระบาดของยาบ้ามีความรุนแรง ทำให้บุคลากรสาธารณสุขต้องการช่วยเหลือชุมชนและแมทริกซ์โปรแกรม เป็นการบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมเฟตามีนรูปแบบใหม่ทำให้ผู้ป่วยเลิกยาเสพติดโดยค้นหาสาเหตุด้วยตนเอง รู้จักตนเองและยาเสพติด เหมาะสมกับชุมชนเพราะเป็นการบำบัดรักษาแบบผู้ป่วยนอกที่ประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงรัฐบาลมีนโยบาลเกี่ยวกับการบำบัดรักษายาเสพติดอย่างเร่งด่วน บุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องจึงทำให้ความสนใจในการที่จะนำแมทริกซ์โปรแกรมไปใช้ในหน่วยงานไม่ใช่เพราะทำตามนโยบายเพียงอย่างเดียว
       เมื่อพิจารณาผลการประเมินที่ได้กับวัตถุประสงค์ของโครงการที่ประเมิน วัตถุประสงค์ของโครงการคือ เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมเฟตามีนแบบผู้ป่วยนอกโดยใช้แมทริกซ์โปรแกรม และศึกษาผลของการบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมเฟตามีนแบบผู้ป่วยนอก โดยใช้แมทริกซ์โปรแกรม สรุปได้ว่าโครงการศึกษาผลการบำบัดรักษาผู้ติดสารแอมเฟตามีนแบบผู้ป่วยนอกโดยใช้แมทริกซ์โปรแกรมบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และมีความเหมาะสมที่โครงการนี้จะดำเนินการต่อไป
       ในส่วนของการปรับปรุงทิศทางกลไกการทำงานเพื่อให้สามารถบรรลุผล คณะวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะดังนี้
       1. ควรมีการประชาสัมพันธ์เพิ่มขึ้นให้ทั่วถึงและครอบคลุมทุกกลุ่มผู้รับบริการในแต่ละพื้นที่โดยใช้วิธีการประชุมวางแผนการประชาสัมพันธ์โดยเฉพาะ โดยจัดผู้รับผิดชอบที่มีความรู้เกี่ยวกับแมทริกซ์โปรแกรม โดยผู้รับผิดชอบพื้นที่ใกล้เคียงหรือแบ่งเป็นเขตในการประชาสัมพันธ์ซึ่งวิธีการควรปรับปรุงเชิงรุก เข้าไปประชาสัมพันธ์โดยตรงตามหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานเพื่อให้เกิดการประสานงานที่ดี
       2. ก่อนมีการขยายผลการให้บริการแมทริกซ์โปรแกรมควรมีการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างผู้ที่จบโปรแกรมจากสถานบำบัดในโครงการนำร่องเพื่อยืนยันผลการวิจัยและมีการพัฒนา ปรับปรุงนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตของสังคมและวัฒนธรรมไทย
       3. สำหรับคู่มือในการบำบัดและคู่มือผู้รับบริการ ควรมีการปรับปรุงให้มีความชัดเจนทางภาษา เนื่องจากแปลมาจากภาษาต่างประเทศ จึงทำให้บางครั้งสำนวนภาษายังไม่สละสลวยหรือทำความเข้าใจได้ยาก ควรมีการประชุมคณะผู้ทำงานและปรับปรุงคู่มือให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
       4. ควรมีการศึกษาผู้รับบริการที่ไม่ครบโปรแกรมว่ามีสาเหตุจากอะไร เพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินงาน และวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคเพื่อแก้ไขต่อไป
       5. บุคลากรที่ทำงานแมทริกซ์โปรแกรม ควรเป็นบุคลากรที่ทำงานแบบเต็มเวลาเพื่อให้มีความพร้อมในการทำกลุ่มและสามารถปฏิบัติงานอื่น ๆ ได้โดยไม่มีผลกระทบต่อการให้บริการมากขึ้น
       6. ควรมีการจัดอบรมให้กับบุคลากรในหน่วยงานและสถานบริการสาธารณสุขให้ทราบกันอย่างทั่วถึง จะช่วยในเรื่องของการประชาสัมพันธ์และการเข้าถึงบริการอีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายในการพัฒนาด้านการบำบัดรักษาต่อไป
       7. ควรมีศูนย์สำหรับฝึกอบรมที่เป็นมาตรฐาน ใช้วิธีอบรมทางวิชาการร่วมกับการฝึกปฏิบัติด้านทักษะจากผู้มีประสบการณ์ ฝึกเป็นผู้ช่วยกลุ่มก่อนปฏิบัติจริง ศูนย์ฝึกควรมีห้องสังเกตการณ์ที่มีกระจกพิเศษสำหรับสังเกตการณ์ทำกลุ่ม มองเห็นด้านเดียว ผู้รับบริการไม่ถูกรบกวน หรือมีการติดตั้ง วีดีโอวงจรปิด เพื่อสังเกตการณ์การทำกลุ่ม ซึ่งในการสังเกตการณ์หรือการศึกษาแต่ละครั้งผู้ป่วยต้องมีความสมัครใจ
       8. รัฐบาลควรให้งบประมาณสนับสนุนในการบำบัดรักษา และสถานบำบัดแต่ละที่ควรมีการเก็บค่าบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
แก้ไขล่าสุดเมื่อ ( Monday, 11 April 2011 )
< ก่อนหน้า   ถัดไป >